คลิ๊กเพื่อชมวีดีโอประวัติความเป็นมากรมจเรทหารบก

 

ประวัติความเป็นมาของหน่วย
          กิจการจเรทหารบกเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงจัดตั้ง จเรทัพบก ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๖ และได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารทรงรับตำแหน่ง จเรทัพบก มีหน้าที่ทรงตรวจราชการทหารทั่วไป เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ ซึ่งนับได้ว่าทรงเป็นจเรทัพบกพระองค์แรก และทรงวางรากฐานกิจการจเรทหารบก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่หน่วยกรมจเรทหารบก จึงได้ยึดถือวันที่ ๖ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมจเรทหารบก

ความเป็นมาตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วย

          คำสั่งการจัดตั้งหน่วย : คำสั่งกรมยุทธนาธิการที่ ๔๑/๑๓๘๐ ลง ๖ ม.ค. ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖)

แจ้งความกรมยุทธนาธิการ

          ด้วยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงรับตำแหน่งเป็นจเรทัพบก มีน่าที่ทรงตรวจราชการทหารบกทั่วไป กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับตำแหน่งเป็นนายพันโท ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กต่อไปด้วย

                                                                                                                                            ศาลายุทธนาธิการ
                                                                                                                                  วันที่ ๖ พฤษภาคม  รัตนโกสินทรศก ๑๒๒
                                                                                                                                             (ลงพระนาม)    จิรประวัติ วรเดช
                                                                                                                                                            ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

การเปลี่ยนแปลงของหน่วย
           นับตั้งแต่กรมจเรทหารบกได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้วิวัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ ประกอบด้วย ๔ ยุค โดยแบ่งจากการปรับปรุงโครงสร้างการจัด และ
สายการบังคับบัญชา ดังนี้
          ยุคที่ ๑ ตั้งแต่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยในยุคนี้ได้มุ่งเน้นในเรื่องการตรวจราชการทหารบกทั่วไปและการฝึกหัดทหารเป็นสำคัญ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ กรมยุทธนาธิการได้จัดตั้งจเรเหล่าต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ๕ เหล่า ได้แก่ แผนกจเรทหารราบ แผนกจเรทหารม้า แผนกจเรทหารปืนใหญ่ แผนกจเรทหารช่าง และแผนกจเรพัสดุ มีหน้าที่ ตรวจกิจการ เหล่า ของตนเองโดยเฉพาะ และเรียกชื่อเป็นส่วนรวมว่า จเรทัพบก ปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนชื่อแผนกจเรเหล่า เป็นกรมจเรของเหล่าต่างๆ อันได้แก่ กรมจเรทหารราบ กรมจเรทหารม้า กรมจเรทหารปืนใหญ่ กรมจเรทหารช่าง และกรมจเรพัสดุ รวมทั้งได้ยกเลิกกรมจเรทหารราบไปรวมกับกรมจเรทัพบก และต่อมากระทรวงกลาโหมได้เปลี่ยนชื่อ “จเรทัพบก” เป็น “กรมจเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล” ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนชื่อ “กรมจเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล” เป็น “กรมจเรทหารบก” รวมทั้งเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “จเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล” เป็น “จเรทหารบก” ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ กระทรวงกลาโหมได้ยุบกองบังคับการกรมจเรทหารบก และให้กรมจเรเหล่าต่างๆ ขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการทหารบก ในยุคที่ ๑ จะเรียกชื่อผู้ดำรงตำแหน่งจเรว่า “จเรทัพบก” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “จเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล”
          ยุคที่ ๒ ตั้งแต่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ มุ่งเน้นในการกำกับดูแลการฝึกศึกษาของเหล่าต่างๆ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งกรมจเรทหารบก โดยให้ขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการทหารบก และโอนกิจการจเรเหล่าต่างๆ มาเป็นหน่วยในบังคับบัญชาของกรมจเรทหารบก รวมทั้งแปรสภาพจากกองบังคับการทหารราบ กองบังคับการทหารม้า กองบังคับการทหารปืนใหญ่ กองบังคับการทหารช่าง กองบังคับการทหารสื่อสาร เป็นแผนกที่ ๑ ถึง แผนกที่ ๕ ตามลำดับ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ กระทรวงกลาโหมได้แผนกเพิ่มขึ้นอีก ๑ แผนก คือ แผนกที่ ๖ กรมจเรทหารบก ซึ่งแผนกนี้ได้ยุบไปรวมกับแผนก ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ กระทรวงกลาโหมได้ยุบกรมจเรทหารบก และให้แผนกที่ ๑ ถึงแผนกที่ ๕ แปรสภาพเป็น แผนกทหารราบ แผนกทหารม้า แผนกทหารปืนใหญ่ แผนกทหารช่าง แผนกทหารสื่อสาร ขึ้นการบังคับบัญชากรมเสนาธิการทหารบก
          ยุคที่ ๓ ตั้งแต่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มุ่งเน้นในการควบคุมอำนวยการวิทยาการของเหล่าต่างๆ รวมถึงการจัดทำแบบฝึก ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ กระทรวงกลาโหม ได้รวบรวมอัตราเจ้าหน้าที่กองทัพบกขึ้นใหม่ เรียกว่า ข้อบังคับทหารว่าด้วย กำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพบกปกติ ๘๙ ซึ่งกำหนดอัตราของกรมจเรทหารบกไว้ อันได้แก่ กองบังคับการ แผนกที่ ๑ ถึงแผนกที่ ๓ โดยมีหน่วยขึ้นตรงได้แก่ กรมจเรทหารราบ กรมจเรทหารม้า กรมจเรทหารปืนใหญ่ กรมจเรทหารช่าง และกรมจเรทหารสื่อสาร ปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ กรมจเรทหารบกแปรสภาพเป็น กรมยุทธศึกษาทหารบก (ทำหน้าที่แทน ยศ.ทบ. เดิม)
          ยุคที่ ๔ ตั้งแต่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมกำหนดให้กรมจเรทหารบก เป็นกรมฝ่ายกิจการพิเศษ ขึ้นตรงต่อกองทัพบก แบ่งส่วนราชการออกเป็น แผนกกลาง กองตรวจ และกองสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจราชการ สืบสวนสอบสวน ในเรื่องที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการปฏิบัติราชการของหน่วยต่างๆ รวมทั้งสืบสวนสอบสวน และพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ การร้องเรียน ที่เกี่ยวกับราชการหรือทหาร หรือข้าราชการของกองทัพบก

                                     

                                              ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เปลี่ยนแผนกกลาง เป็นกองกลาง และเพิ่มกองตรวจการจัดหา

                                     

                                                              ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ เปลี่ยนชื่อกองกลาง เป็นกองธุรการ

                                     

                                   ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ ยุบกองตรวจการจัดหา ไปรวมกับกองตรวจ รวมทั้งจัดตั้งกองแผนและโครงการ

                                     

          ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ เปลี่ยนชื่อกองตรวจ เป็นกองตรวจกิจการทั่วไป รวมทั้ง เพิ่มกองตรวจการจัดหา ขึ้นใหม่ ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขมาโดยต่อเนื่อง มีการจัดซึ่งประกอบด้วย กองธุรการ กองแผนและโครงการ กองตรวจกิจการทั่วไป กองตรวจการจัดหา และกองสืบสวนสอบสวน

                                     

          ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติและลงนามในคำสั่ง กระทรวงกลาโหมให้แก้ไขอัตราเฉพาะกิจ ๒๓๐๐ กรมจเรทหารบก และกองทัพบกได้ออกคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ลับ ที่ ๑/๕๙ เรื่อง แก้อัตรากองทัพบก ๒๕๐๖ (ครั้งที่ ๑) ลง ๑๒ ม.ค. ๕๙ โดยให้ยกเลิก อัตราเฉพาะกิจ หมายเลข ๒๓๐๐ กรมจเรทหารบก ซึ่งใช้ตามคำสั่ง กองทัพบก (เฉพาะ) ลับ ที่ ๒๓/๓๘ ลง ๑๕ ก.พ. ๓๘ และที่แก้ไข เพิ่มเติมตามลำดับ จนถึงคำสั่ง กองทัพบก (เฉพาะ) ลับ ที่ ๑๒/๕๖ ลง ๒๑ มี.ค. ๕๖ และให้ใช้คำสั่งนี้แทน ซึ่งมีการจัดดังนี้